กำหนดการและแนวทางการส่งและตรวจรายงานผลงานวิชาการ เพื่อการสมัครสอบวุฒิบัตร/หนังสืออนุมัติแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ปีการสอบ ๒๕๖๐
ประกาศวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย
เรื่อง กำหนดการและแนวทางการส่งและตรวจรายงานผลงานวิชาการ เพื่อการสมัครสอบวุฒิบัตร/หนังสืออนุมัติแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ปีการสอบ ๒๕๖๐
คะแนนผลงานวิชาการจะนำไปรวมกับคะแนนสอบปฏิบัติ
โดยคิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของคะแนนภาคปฏิบัติทั้งหมด
1. กำหนดส่งรายงานการวิจัย
1.1. กำหนดการส่งชื่อผลงานวิจัย ภายในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ ให้ส่งโดยบันทึกชื่อแฟ้มเป็นชื่อ Institue_name _category_2016.pdf (ตามแบบเสนอชื่อเรื่องผลงานวิชาการทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (email) เช่น Siriraj_tipa_neurological_2016) ให้กลุ่มผู้ประสานงาน ที่ EPresearch2559@gmail.com รวมทั้งส่งสำเนา (cc:) ถึงอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ผู้แทนสถาบันในกลุ่มสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง วิทยาลัยเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย (สฝอ.วฉท.) ของสถาบันตนเอง ตามตารางแนบท้าย
1.2. ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ ให้ส่งเอกสารสองฉบับคือ
1.2.1. รายงานผลงานวิชาการฉบับสมบูรณ์ ซึ่งบันทึกชื่อแฟ้มเป็นชื่อ Institue_name_full paper_2016.pdf (เช่น Siriraj_tipa_fullpaper_2016)
1.2.2. บทคัดย่อ(ภาษาอังกฤษ) ซึ่งบันทึกชื่อแฟ้มเป็นชื่อ Institue_name_abstract_2016.pdf (เช่น Siriraj_tipa_abstract_2016)
ให้กลุ่มผู้ประสานงาน ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (email) ที่ EPresearch2559@gmail.com รวมทั้งส่งสำเนา (cc:) ถึงอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ผู้แทนสถาบันในกลุ่มสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง วิทยาลัยเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย (สฝอ.วฉท.) ของสถาบันตนเอง
1.3. ภายในวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๐ ให้อาจารย์ที่ปรึกษาประเมินผลงานวิชาการและส่งผลการประเมิน แก่อาจารย์ผู้แทนสถาบันในกลุ่มสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง วิทยาลัยเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย (สฝอ.วฉท.) ของสถาบันตนเองและให้ผู้แทนสถาบันรวบรวมส่งสำเนาผลการประเมินผลงานวิชาการจากอาจารย์ที่ปรึกษา ที่ บันทึกชื่อแฟ้มเป็นชื่อ Institue_name_advisor_2016.pdf (เช่น Siriraj_tipa_advisor_2016) ให้กลุ่มผู้ประสานงานทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (email) EPresearch2559@gmail.com
ทั้งนี้ยกเว้น ผลงานวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่มีระบบการทบทวน (peer review journal) แล้ว ไม่ต้องมีการประเมินจากอาจารย์ที่ปรึกษาก็ได้
ในกรณีที่ส่งไม่ทันภายในกำหนดข้างต้น จะไม่ได้รับการพิจารณาจากอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ ซึ่งจะเป็นผลให้ขาดคุณสมบัติในการสมัครสอบในปีการสอบ ๒๕๖๐ นี้ด้วย
การตรวจประเมินรายงานวิจัย โดยผู้ประเมิน ๒ ท่านต่อรายงานหนึ่งฉบับ
1.4. ภายในวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๐ กลุ่มผู้ประสานงานจะ ดำเนินการจัดส่งผลงานและแบบตรวจผลงานวิชาการให้อาจารย์ผู้ตรวจประเมินผลงานวิชาการ (ตามที่ วฉท. ได้แต่งตั้งไว้) ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ตามที่อาจารย์นั้นแจ้งไว้ (เว้นแต่อาจารย์ผู้ตรวจได้แจ้งไว้ให้ส่งด้วยวิธีอื่น)
1.5. ภายใน ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ อาจารย์ผู้ตรวจประเมินผลงานวิชาการตามข้อ ๒.๑ ส่งผลการประเมินกลับทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ให้กลุ่มผู้ประสานงานที่ EPresearch2559@gmail.com โดยตั้งชื่อแฟ้มเป็นชื่อ institute(ของแพทย์ประจำบ้าน)_name(ชื่อเจ้าของรายงานวิจัย)_result_reviewer(ชื่อผู้ตรวจ)_2016.pdf
2. การตัดสินผลการตรวจประเมินผลงานวิชาการ
2.1. อาจารย์ผู้ได้รับแต่งตั้ง ดำเนินการตรวจประเมินผลงานวิชาการตามแบบประเมินรายงานผลงานวิชาการ โดยสรุปผลอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
2.1.1. ผ่านโดยไม่ต้องแก้ไข (ได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ และไม่ต้องแก้ไข)
2.1.2. ผ่านอย่างมีเงื่อนไข (ได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ แต่ต้องให้แก้ไขก่อน แล้วจึงให้ผ่าน)
2.1.3. ไม่ผ่าน (ได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ซึ่งอนุญาตให้แก้ไขได้ตามกำหนดเวลา)
2.2. ในกรณีที่อาจารย์ผู้ตรวจผลงานวิชาการคนใดคนหนึ่งเห็นสมควรให้มีการแก้ไขตามข้อ ๓.๑.๒ หรือ ๓.๑.๓ ให้แพทย์ผู้จะสมัครสอบ แก้ไขผลงานวิชาการให้แล้วเสร็จ ภายใน ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ โดยส่งมาที่EPresearch2559@gmail.com
2.3. อาจารย์ผู้ตรวจผลงานวิชาการจะได้รับผลงานที่แก้ไขภายใน ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เพื่ออาจารย์ได้ดำเนินการตรวจให้แล้วเสร็จ และแจ้งผลการตรวจกลับมาที่ EPresearch2559@gmail.com ภายใน ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๐
กรณีได้ผลสรุปตามข้อ ๓.๑.๑ หรือ ๓.๑.๒ ซึ่งได้แก้ไขและอาจารย์ทั้ง ๒ คนให้ผ่านแล้ว ให้ได้รับคะแนนผลงานวิชาการที่จะนำไปรวมกับคะแนนสอบปฏิบัติ เท่ากับคะแนนเฉลี่ยที่ได้รับจากอาจารย์ทั้งสองดังกล่าว
กรณีได้ผลสรุปตามข้อ ๓.๑.๓ และได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว จะได้รับผลเป็นผ่านหรือไม่ผ่านเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นคะแนนจากอาจารย์นั้นเท่ากับร้อยละ ๕๐ ให้ได้รับคะแนนผลงานวิชาการที่จะนำไปรวมกับคะแนนสอบปฏิบัติ เท่ากับคะแนนเฉลี่ยที่ได้รับจากอาจารย์ทั้งสองดังกล่าว
2.4. กรณีอาจารย์ผู้ตรวจผลงานวิชาการคนใดคนหนึ่งพิจารณาแล้วเห็นสมควรให้ผ่าน แต่ผู้ตรวจผลงานวิชาการอีกคนหนึ่งพิจารณาแล้วเห็นสมควรไม่ให้ผ่าน หรือ ไม่ผ่านแม้ว่าจะแก้ไขแล้ว ให้ประธานคณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบ สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน (อฝส.วฉ.) พิจารณาตัดสินชี้ขาดให้แล้วเสร็จภายใน ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐
2.5. กรณีอาจารย์ผู้ตรวจประเมินผลงานวิชาการทั้ง ๒ คนพิจารณาแล้วเห็นสมควรไม่ให้ผ่าน ให้ถือว่า ไม่ผ่าน ซึ่งจะเป็นผลให้ขาดคุณสมบัติในการสมัครสอบในปี ๒๕๖๐ นี้ด้วย
2.6. กรณีอาจารย์ผู้ตรวจผลงานวิชาการทั้ง ๒ คนพิจารณาแล้วเห็นสมควรให้ผ่าน (เกณฑ์ผ่านคือได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐) ผู้สมัครสอบฯ สามารถนำผลงานวิชาการดังกล่าวไปเป็นหลักฐานประกอบการสมัครสอบได้
คำอธิบายเกณฑ์การประเมินรายงานวิจัย
วัตถุประสงค์ในการทำวิจัยของแพทย์ประจำบ้าน
ภายหลังการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านมีความสามารถในการทำวิจัยได้ตามกระบวนการดังต่อไปนี้
1. วางแผนและเขียนโครงร่างการวิจัยที่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งประกอบด้วย
- เลือกหัวข้อเรื่องที่จะทำวิจัย
- ทบทวนวรรณกรรม
- ตั้งวัตถุประสงค์
- วางแนวทางและเลือกรูปแบบการวิจัย
- เลือกประชากร กลุ่มตัวอย่างและขั้นตอนวิธีการคัดเลือกตัวอย่างในการวิจัย
ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์
- วิธีการเก็บและรวบรวมข้อมูล
- วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล
- ข้อพิจารณาทางด้านจริยธรรม
- งบประมาณที่ต้องใช้
2. เก็บและรวบรวมข้อมูลตามแผนการที่วางไว้
3. วิเคราะห์ข้อมูล สรุป และแปลผลการวิจัยให้ถูกต้อง
4. เสนอผลงานการวิจัย ถูกต้องตามเกณฑ์
เกณฑ์การตัดสิน ให้ ผ่าน ในแต่ละหัวข้อ มีดังต่อไปนี้
1. ชื่อเรื่อง: ต้องสั้น กะทัดรัด แต่ได้ใจความชัดเจน ชื่อเรื่องที่เป็นภาษาไทย ต้องใช้ภาษาไทยทั้งหมด ในกรณีที่ไม่มีคำศัพท์ภาษาไทยให้เขียนทับศัพท์หรือคำแปลที่สื่อความหมายได้
2. บทคัดย่อ: มีการเขียนตามแบบโครงสร้าง มีความถูกต้องตามผลที่ได้จากการวิจัย บทคัดย่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษควรจะคล้ายกัน
3. บทนำ
3.1. มีการกล่าวถึงความสำคัญของปัญหา
3.2. มีการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างทันสมัย สามารถนำองค์ความรู้ชักนำไปสู่คำถามและวัตถุประสงค์ของงานวิจัยได้อย่างเหมาะสม
4. มีวัตถุประสงค์หลักและวัตถุประสงค์รองที่ชัดเจน
5. สมมติฐาน (ถ้ามี)
6. การดำเนินการวิจัย
6.1. มีการใช้รูปแบบการวิจัยที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงคำถามของการวิจัย ข้อจำกัดด้านเวลา และอุปกรณ์
6.2. มีการใช้นิยามตัวแปรที่ถูกต้องตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
6.3. มีการกำหนดประชากรเป้าหมาย กลุ่มตัวอย่าง ขั้นตอนวิธีการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง มี Inclusion และ Exclusion criteria ที่ชัดเจนและเหมาะสม
6.4. มีการคำนวณขนาดตัวอย่าง โดยใช้สูตรและ assumption ที่เหมาะสมกับรูปแบบของการวิจัยนั้น ๆ
6.5. มีการบรรยายถึงอุปกรณ์ที่สำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในการวิจัย
6.6. มีการบรรยายถึงวิธีดำเนินการวิจัยอย่างละเอียดเพียงพอที่ผู้อ่านสามารถนำไปปฏิบัติได้
6.7. มีการวิเคราะห์ข้อมูลและใช้สถิติที่เหมาะสมกับรูปแบบของการวิจัย
7. ผลการวิจัย: มีการบรรยายผลการวิจัยได้ถูกต้อง ใช้ตารางและกราฟอย่างเหมาะสม การบรรยายผลไม่ซ้ำซ้อนกับข้อมูลในตารางหรือกราฟ
8. บทวิจารณ์
8.1. มีการสรุปและวิจารณ์ผลการวิจัยได้ถูกต้อง เปรียบเทียบว่าสอดคล้องหรือขัดแย้งกับผลงานของผู้อื่นอย่างไร เพราะอะไร
8.2. มีการวิจารณ์ที่ข้อเด่นและข้อจำกัดของวิธีการวิจัย รวมถึงผลที่อาจมีต่อการวิจัย
8.3. มีการวิจารณ์ถึงการนำผลการวิจัยไปใช้ และข้อเสนอแนะ
9. บทสรุป: มีการสรุปผลการวิจัยที่สำคัญและวิจารณ์อย่างย่อ ๆ โดยอาจมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
10. เอกสารอ้างอิง: มีการเขียนตามแบบ Vancouver style
11. ภาคผนวก: แบบสอบถามหรือแบบบันทึกข้อมูล หรือรายละเอียดของวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิจัย รวมถึงเอกสารรับรองการผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิจัยในคน อาจมีส่วนอื่นๆ ที่พิจารณาว่าสมควรอยู่ในภาคผนวก
12. การใช้ภาษา: ให้ใช้ภาษาหลักเฉพาะภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษเท่านั้น มีการใช้ภาษาเขียนได้ถูกต้องเหมาะสมรัดกุมตามหลักไวยากรณ์ของภาษาที่ใช้เป็นหลักนั้น มีเอกภาพในการเขียน อนุญาตให้มีตัวสะกดผิดได้ไม่เกินหน้าละ ๑ คำ
กรณีใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ให้ตรวจสอบการสะกดคำตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีการแปลให้ใช้ตามพจนานุกรมศัพท์บัญญัติ และพจนานุกรมศัพท์แพทย์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ในกรณีที่ยังไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทย อาจแปลโดยใช้คำไทยหรือบาลีสันสกฤตหรือทับศัพท์ ตามหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถาน โดยใส่คำภาษาอังกฤษไว้ในวงเล็บ (เฉพาะครั้งแรกที่กล่าวถึงคำคำนั้น) การเว้นวรรคและการใช้เครื่องหมายวรรคตอน ให้ใช้ตาม หลักเกณฑ์การเว้นวรรคและการใช้เครื่องหมายวรรคตอน ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ทั้งนี้สามารถตรวจสอบได้จาก เว็บไซต์ราชบัณฑิตยสถาน: www.royin.go.th